วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

ทำไมการปลูกแบบผักบ้าน..บ้าน ถึงไม่ใช้ถ้วยปลูกและปั๊ม

หลายๆ คน อาจแปลกใจว่าทำไมชุดปลูกผักของร้านเราถึงไม่ใช้ถ้วยปลูกและปั๊มเหมือนการปลูกแบบอื่นๆ

 ด้วยนิสัยเด็กวิศวะอิเล็ก ที่ถูกฝึกมาให้ตั้งคำถามและหาคำตอบในช่วงที่เรียน ดังนั้นเมื่อเราจะลงมือทำอะไรสักอย่าง มักตั้งคำถามว่าทำไมต้องใช้อันนี้? ทำไมไม่ใช้อันนั้น? และมีอย่างอื่นไหมที่สามารถทดแทนได้ เราจะใช้เวลาก่อนลงมือทำ ค่อยๆหาคำตอบ เท่าที่จะสามารถหาได้


   ช่วงที่คิดจะเริ่มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) เราตัดสินใจปลูกแบบน้ำนิ่งเพราะเป็นการปลูกที่ต้นทุนถูกที่สุดแล้ว แต่บทความหลายบทความบอกว่าต้องใช้ปั๊มเพื่อให้ออกซิเจน แต่เราก็ไม่ชอบเรื่องการเดินระบบไฟฟ้าไว้นอกบ้าน เพราะไฟฟ้ากับความชื้นและน้ำฝนตอนฝนตก ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย  
   ส่วนถ้วยปลูก เราก็คิดจะใช้เพราะเห็นใครๆ เขาใช้กัน แต่เราคิดว่าถ้าไม่ใช้หละจะเป็นอย่างไร และนี่แหละคือเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน
                                   
เริ่มต้นดังนั้นเราจึงหาความสำคัญของถ้วยปลูกก่อน (เพราะคิดว่าง่ายกว่าเรื่องปั๊ม)
   
  
ถ้วยปลูก
  ถ้วยปลูกทำหน้าที่ในการพยุงต้นกล้าไม่ให้ล้มและช่วยควบคุมต้นกล้าให้อยู่ในระดับน้ำที่เหมาะสม ส่งผลให้ปริมาณปุ๋ยที่ใช้น้อยลง นั่นคือประโยชน์ของถ้วยปลูก(ตามที่เราหาข้อมูลได้นะคะ)
  แต่เมื่อสังเกตุผักที่อยู่บนดิน เจ้าผักก็ไม่ใช้ถ้วยปลูก ยังสามารถพยูงตัวและตั้งเองได้ ดังนั้น “ถ้าไม่มีถ้วยปลูกเจ้าผักสามารถตั้งเองได้ไหมโดยการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์แบบกระถางราง” และนี่เองคือสมมุติฐานแรกของเรา จากการทดลองในหลายๆครั้ง

ผักกาดขาวไดโตเกียวอายุ 30 วัน


     สรุปได้ว่าผักสามารถปรับตัวได้ในกรณีที่ไม่ต้องใช้ถ้วยปลูก แม้จะปลูกกับผักที่มีขนาดกอใหญ่ก็ตาม ดังภาพ (แอบทึ่งกับการปรับตัวของเจ้าผักเหมือนกัน)
ผักกาดขาวใหญ่
     แน่นอนเมื่อไม่มีถ้วยปลูก เราก็ได้พื้นที่มากขึ้น ทำให้ปริมาณหลุมปลูกในกระถางมากขึ้นเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว นี่คือของแถมที่น่าสนใจ แต่วิธีนี้ก็ทำให้ระดับรากผักอยู่สูงจากพื้นดินมากกว่าการปลูกโดยใช้ถ้วยปลูกจึงต้องใช้น้ำมากขึ้น เพื่อให้ระดับน้ำสูงพอที่จะคลุมรากได้ ส่งผลให้ใช้ปุ๋ยมากกว่าเดิมเพื่อให้ได้ความเข้มข้นของปุ๋ยเท่าเดิมในปริมาณน้ำที่มากขึ้น และนี่คือต้นทุนเดียวที่แพงจากการปลูกผักแบบนี้ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับระบบอื่นๆ ก็ยังเป็นต้นทุนที่ถูกอยู่ สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการปลูกเพื่อทานภายใน ครอบครัว เพราะต่อชุดราคาไม่เกิน 500 บาทก็ปลูกได้แล้ว


ชุดพอเพียง ( 12 หลุม)

     แล้วปั๊มหละ ทำหน้าที่อะไร?
     ปั๊มทำหน้าที่ในการให้ออกซิเจนกับน้ำ เพ่ือผักเติบโตได้ แม้รากผักจะจุ่มอยู่ในน้ำเกือบทั้งหมด ดังนั้นรากไม่ได้เพียงทำหน้าที่ในการดูดซึมอาหาร แต่ยังทำหน้าที่ในการรับออกซิเจนด้วย เพื่อทำให้ผักมีชีวิตและเติบโต
     จากงานวิจัยและการปลูกอย่างแพร่หลายในระบบน้ำนิ่ง ทำให้เรารู้ว่าการใช้ปั๊ม ไม่ใช่วิธีเดียวที่ทำให้ผักได้รับออกซิเจน แต่การเว้นช่องว่างระหว่างรากผักกับระดับน้ำอย่างเหมาะสมก็เป็นวิธีที่ทำให้ผักมีชีวิตและโตได้ด้วย ดังนั้นเราเลยหาข้อมูลและทดลองว่าระดับน้ำเท่าไรจึงเหมาะสมกับการปลูกผักระบบน้ำนิ่ง ในกระถางราง จึงได้ข้อสรุปดังนี้ 
    จากอากาศที่ร้อนและร้อนมากๆของบ้านเรา ธรรมชาติเป็นตัวช่วยที่ดีในการปรับระดับน้ำได้ตลอดทั้งปี (โชคดีเพราะประเทศเราร้อนใช่ไหมเนี่ย) 
   ผลการทดลองปลูกมาประมาณสองปี สรุปผลได้ว่า
  - ในช่วง 1- 15 วันแรก(นับจากนำต้นกล้าลงกระถาง) การระเหยของน้ำจะสัมพันธ์กับระดับน้ำในกระถางรางอย่างไม่น่าเชื่อ คือระดับน้ำลดลงเพียงพอสำหรับออกซิเจนที่ผักต้องใช้ในการเติบโต (ชุดพอเพียงเป็นชุดที่ปริมาณน้ำเหมาะสมที่สุดในทุกๆ ฤดูกาล) ทำให้ไม่ต้องใช้ปั๊มน้ำในการให้ออกซิเจนเหมือนวิธีอื่น 
   หมายเหตุ สำหรับชุดเด็กน้อยควรเอาน้ำออกให้น้ำสูงประมาณ 3/4 ของรากในช่วง
สัปดาห์ที่ 2 หลังจากปลูก เพราะปริมาณน้ำในกระถางมีมากกว่าชุดพอเพียงเมื่อเปรียบเทียบกับชุดพอเพียงในปริมาณจำนวนต้นที่เท่ากัน
ชุดเด็กน้อย ( 7 หลุม)

  - ในช่วงประมาณ 15-30 วัน ผักจะใช้น้ำมาก เพราะอยู่ในช่วงกำลังโต เราอาจต้องเติมน้ำแทนน้ำที่สุญเสียไปแต่ไม่ควรมากกว่าครึ่งหนึ่งของกระถาง ดูในบทความนี้นะคะ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ผู้ปลูกจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนในระหว่างใส่ปุ๋ย (สำหรับปุ๋ยที่ซื้อจากร้านผักบ้าน...บ้าน) 
น้ำลดมากช่วงใส่ปุ๋ยครั้งที่ 4 

   สรุปแล้ววิธีนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้ปั๊มเพื่อให้ออกซิเจน ส่งผลให้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า เราเลยสามารถวางกระถางได้ตามต้องการ โดยไม่ต้องเดินสายไฟเพิ่ม และตัดความกังวลเวลาที่ไฟดับหรือต้องเสียบปลั๊กทิ้งไว้เมื่อไม่อยู่บ้านค่ะ
    เพื่อนๆ คงเข้าใจแล้วนะคะ ว่าชุดพอเพียง และชุดเด็กน้อย เกิดขึ้นมาได้ยังไงนะค่ะ หวังว่าเพื่อนๆ จะลองประดิษฐ์หรือทดลองปลูกบ้างนะคะ อยากบอกว่าสนุกมากๆ



   ขอบคุณอาจารย์ ที่คอยสอนให้หนูได้เป็นนักตั้งปัญหา และรู้จักแก้ไขปัญหา ขอบคุณอาจารย์ที่ทำให้หนูได้มีวันนี้ วันที่ได้สานฝันคนอยากปลูกผักให้เป็นจริง 
ขอให้เพื่อนๆมีความสุขสุขภาพแข็งแรงทุกคนนะคะ
จากเรา
หรือพูดคุยและกด like กับเราได้ที่




วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

การเก็บผักและวิธีการจัดกระเช้าผักให้สวยงามแบบง่ายๆ ด้วยผักไฮโดรโปนิกส์

การเก็บผักและวิธีการจัดกระเช้าผักให้สวยงามแบบง่ายๆ ด้วยผักไฮโดรโปนิกส์


   อันดับแรกคือ ทำการเทน้ำที่มีปุ๋ยทิ้ง ใส่น้ำใหม่ครึ่งกระถางหรือปริมาณน้ำท่วมรากประมาณ 1 ใน 3  แช่ไว้ 1 วัน  1 คืน เพื่อให้ผักดูดน้ำและละลายปุ๋ยในตัวผักไปในตัว ทั่งยังช่วยให้คราบในกระถางละลายออกมาได้บางส่วน และค่อยนำมาทาน ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปุ๋ยได้ในนี้นะคะดูหน้าสุดท้ายจากบทความของอาจารย์ ผศ.ดร. ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสง


ผักที่เตรียมนำมาจัดในวันพร่งนี้ค่ะ

ใส่นำ้ครึ่งหนึ่งของกระถาง

  หลังจากแช่ผักไว้ตามที่กำหนดแล้ว ให้นำกระเช้าสวยๆ ที่ต้องการนำมาจัด และนำผักที่ต้องการมาเตรียมไว้ ผักที่นำมาจัด ไม่ควรทำการตัดรากหลังนำออกจากกระถางปลูก เพราะจะทำให้ผักเหี่ยวอย่างรวดเร็ว 




รากยังเปียกอยู่ทำให้ใบผักไม่เหี่ยวเมื่อเดินทาง (กรีนโอ้ค พันธุ์ Royal) 

  ทำการจัดผักโดยวางผักจากขอบนอกของกระเช้าเข้าด้านใน ควรเป็นผักที่มีใบแข็ง เมื่อวางแล้วไม่เคลื่อนย้ายผักมากเพราะจะทำให้ผักช้ำ 


ผักที่ใช้คือกรีนโอ้คพันธุ์ Royal


แซมผักที่มีสีใบหรือลักษณะใบที่แตกต่างกันแซมเข้าไปกับผักชนิดแรกที่จัดก่อนหน้านี้ เพื่อทำให้เกิดมิติและสีสันสวยงามขึ้น
แชมด้วยเรสคอส

  พรมน้ำให้ทั่ว หากกระเช้าผักต้องเดินทางไกล ควรมีผ้าชุบน้ำคลุมผักให้ทั่ว เพื่อทำให้ผักสดลดการเหียวก่อนถึงมือผู้รับค่ะ
  เคล็ดลับในการเก็บผักให้สดและกินได้นานคือ เมื่อนำออกจากตระกร้าแล้วควรแช่รากใว้ในน้ำดังภาพค่ะ จะทานเมื่อไหร่ค่อยเอาออกมา แค่นี้เราก็จะมีผักสดกินได้ตลอดแล้วค่ะ


ผักที่เหลือจากการทานนำรากมาแช่น้ำเพื่อให้ผักยังคงความสดอยู่


สามกระถางที่เห็นสามารถนำมาจัดกระเช้าได้ 1 กระเช้าและเก็บไว้กินเองได้อีก 2 ตะกร้า การปลูกผักง่ายเพียงแค่ลงมือทำอย่าเพียงแค่คิด แต่ควรลงมือทำ ถ้ามีโอกาสค่ะ


ตัวอย่างการจัดผักชนิดต่างๆ (เรสคอสกับผักกาดขาวใหญ่)

กระเช้าประกอบด้วย ผักกาดขาวไดโตเกียว เรสคอส กรีนโอ้คและ กวางตุ้งฮองเต้
ขอให้เพื่อนๆมีความสุข สุขภาพแข็งแรงทุกคนนะคะ

และถ้าเพื่อนๆมีความสุขกับบทความนี้รบกวนมากด like ที่
http://facebook.com/pukbaan  เพื่อเราจะได้มาเจอกันนะค่ะ





ประยุกต์กระถางรางมาใช้ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (ปลูกผักไร้ดิน)แบบน้ำนิ่ง

  สำหรับเพื่อนๆ ที่ใช้กระถางรางยาว 70 ซม. เป็นรางในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบน้ำนิ่ง 

ผักที่ปลูกโดยใช้กระถางรางขนาด 70 ซม.

กระถางพลาสติกแบบนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ปลูกผักลักษณะนี้ ทำให้กระถางเสียรูปเมื่อเติมน้ำเต็มกระถาง 
วิธีในการช่วยทำให้กระถางไม่เสียรูปเมื่อน้ำเต็มกระถาง ทำได้โดยการ ใช้เชือกฟางรัดทั้งหมดสามช่วงของกระถางดังภาพ


ผูกเชือกฟางรัดทั้ง 3 ช่วง


  โดยวิธีการผูกปมนั้นควรผูกให้แน่นแต่สามารถแกะได้นะคะ ควรผูกไว้ด้านล่างของกระถางเพื่อป้องกันการแกะในช่วงที่ต้องใส่ปุ๋ยให้กับผักของเราคะ
ผูกใต้กระถางเพื่อป้องกันการแกะตอนใส่ปุ๋ย

  
   ทดสอบว่าใช้ได้หรือยัง โดยนำฟาโฟมหรือวัสดุที่ใช้ยึดผักมาวาง สังเกตุดูว่าเห็นเชือกฟางผ่านช่วงที่เจาะหรือไม่ดังภาพ


   


    ถ้าเหมือนให้ทำการขยับเชือกฟางออกดังภาพ เพื่อไม่ให้เชือกขวางฟองน้ำไม่ให้โดนน้ำหลังจากทำการปิดฝาในขั้นตอนการปลูก



 นำเชือก 2 เส้นมาผูกยึดระหว่างอุปกรณ์ยึดผักและกระถางกันปลิวดังภาพ 



ขอบคุณภาพจากร้านผักบ้าน...บ้านนะคะ บทความนี้สั้นๆ แต่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ทานเองภายในบ้าน
ขอให้เพื่อนๆมีความสุข สุขภาพแข็งแรงทุกคนนะคะ




และถ้าเพื่อนๆมีความสุขกับบทความนี้รบกวนมากด like ที่
http://facebook.com/pukbaan  เพื่อเราจะได้มาเจอกันนะค่ะ


   

  

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557

ประโยชน์ของผักแต่ละชนิดและฤดูที่เหมาะสม(ไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง) ภาค 2

ผักกาดหอม 



     เป็นผักที่มีลักษณะสีสันสวยงาม จึงเป็นที่นิยมนำมาประดับตกแต่งเพื่อให้อาหารนั้นมีความสวยงามน่าทานขึ้น
และด้วยความสวยงามนี้เองทำให้เกษตรกรหลายคนใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณที่มากซึ่งส่งผลทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อสารเคมีตกค้างในใบผักได้
   ดังนั้นเราจึงได้ทำการทดลองปลูกผักกาดหอมแบบไฮโดรโปนิกส์ระบบน้ำนิ่ง (ปลูกไร้ดินแบบน้ำนิ่ง) เพื่อทานเองภายในบ้านลดความเสี่ยงจากยาฆ่าแมลงตกค้าง ผลปรากฏว่าผักชนิดนี้ปลูกได้ดีในช่วงฤดูฝน เพราะผักโตเร็ว ช่อใบใหญ่ แถมดูสวยงามอีกต่างหาก (ปลูกเป็นไม้ประดับได้เลย) ทำให้เราคิดว่าเพื่อนๆ ก็น่าจะปลูกไว้ทานเองในบ้านได้ไม่ยากนัก
   
    ฤดูที่เหมาะสมในการปลูก คือ ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว (ผักชนิดนี้ชอบอากาศเย็น)

ปลูกในช่วงฤดูฝน


   คุณค่าทางอาหาร จากที่เราอ่านมาและชอบที่สุดคือ เป็นผักที่ช่วยทำให้นอนหลับง่าย ล้างพิษ และขับเหงื่อ เพราะในผักกาดหอมหนัก 100 กรัม จะมีฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 4.9 มิลลิกรัม วิตามินซี 24 มิลลิกรัม รวมถึงเบตาแคโรทีนและวิตามินเอสูง ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับดวงตาได้ดีอีกด้วย
   เห็นแบบนี้แล้ว เพื่อนๆที่สนใจเรื่องสุขภาพควรหันมาปลูกผักทานเองภายในบ้านได้แล้วนะค่ะ

ผักเรดคอส
     เป็นผักที่มีใบสีสวยมากๆ ยิ่งนำมาจัดใส่ตะกร้าแล้วทำให้เหมือนมีดอกไม้มาบานอยู่ในตะกร้าผักเลยทีเดียว ใบของเรดคอสมีความนุ่มอ่อน กินง่ายไม่แข็ง 


     ฤดูที่เหมาะสมในการปลูกคือ  ฤดูหนาว เพราะฤดูฝนใบที่ออกมาไม่ใหญ่มาก (เราคิดว่าฤดูหนาวใบน่าจะใหญ่กว่านี้นะค่ะ) 

ปลูกในช่วงฤดูฝน


คุณค่าทางอาหาร เหมือนผักคอสทั่วไปคือช่วยบำรุงกล้ามเนื้อ ประสาท สายตา และเส้นผม แหมถ้ากินบ่อยๆคงสวยน่าดู 


ขอให้เพื่อนๆมีความสุข สุขภาพแข็งแรงทุกคนนะคะ
    

วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

ผักกับความร้อนที่เกิดจากแสงแดด

สวัสดีจ้าเพื่อนๆ ที่สนใจการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือผักไร้ดินโดยการปลูกแบบวิธีน้ำนิ่ง (ไม่ใช้ไฟฟ้า)


     ขอโทษนะที่หยุดเขียนไปนาน เพราะช่วงนี้งานยุ่งๆ ค่ะ แต่พอว่างเมื่อไร ก็อยากเขียนต่อนะ เพราะเรื่องราวของผักมันสนุกจนไม่เบื่อที่จะเขียน
     ช่วงนี้หน้าฝน อากาศเย็นดีมีระอองฝนแถมมาให้ด้วยเป็นระยะ ทำให้ผักที่บ้านงามมากๆ แต่ก็แน่หละแมลงก็มีมากด้วยเช่นเดียวกัน
     วันนี้เพื่อนๆ มารู้จักความร้อนกับผักกันบ้างนะคะ

      ในบ้านเรา ถ้าพูดถึงคำว่าร้อนมันเหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเจอ ผักก็เช่นกัน เขาก็จะเจอความร้อนจากแสงอาทิตย์แทบทุกวัน บางวันร้อนน้อย บางวันร้อนมาก
ผักจะเหี่ยวมากเมื่อเจอความร้อนจากพระอาทิตย์

      ดังนั้นเมื่อเพื่อนๆมือใหม่ที่ไม่เคยปลูกผัก อย่าตื่นตกใจที่เห็นผักหน้าตาแบบด้านบนนะคะ เพราะว่าเมื่ออากาศเย็นลงผักก็จะกลับมางามเหมือนเดิมแบบนี้ค่ะ
      



      แต่ถ้าอากาศเริ่มเย็นแล้วสัก 1-2 ชั่วโมง อาการของผักเรายังไม่ดีขึ้น สิ่งที่ควรทำคือ
  1. ตรวจสอบและเติมน้ำให้ระดับน้ำว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมเข้าไปดูได้ในบทความนี้นะคะ http://pukbaanbaan.blogspot.com/2014/07/blog-post_25.html
  2. ถ้าระดับน้ำยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือลดลงไม่มากให้ทำการเปลี่ยนน้ำและใส่ปุ๋ยใหม่นะคะ เพราะที่ต้นเหี่ยวไม่ได้เกิดจากความร้อนแต่เกิดจากโรคที่มากับน้ำ ดูในบทความนี้นะคะhttp://pukbaanbaan.blogspot.com/2014/07/blog-post_29.html


      เพื่อนๆคะ การปลูกผักนั้นถ้าเราปลูกเขาด้วยใจ เราก็จะได้ใจจากเขาค่ะ ถ้าอยากปลูกผักให้งาม ใช้ใจ ให้ความรักกับเขา ผลตอบแทนที่ได้คือความงามของผักและรอยยิ้มจากคนที่เรามอบผักให้ค่ะ 
      หากเพื่อนๆ ปลูกผักได้งามดังใจหวังแล้ว จัดกระเช้าผักมอบให้คนที่เรารักบ้างนะค่ะ รอยยิ้มจากคนที่เรารัก จะเป็นกำลังใจให้เราต่อสู้กับความยากลำบากค่ะ



                                                         ขอให้เพื่อนๆมีความสุข สุขภาพแข็งแรงทุกคนนะค่ะ
                                                                                                 
                                                                         http://pukbaan.lnwshop.com/